TL;DR – ยาวไปไม่อ่าน
คุณรู้หรือไหม? ว่าการที่นายจ้างอย่างคุณและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาททุกเดือน นั้นล้วนมีประโยชน์ต่อสิทธิประกันสังคมมากถึง 7 กรณี โดยแต่ละกรณีสามารถใช้ได้ต่อเมื่อมีการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในระยะเวลาที่กำหนด
“ประกันสังคม” จ่ายไปทุกเดือนแล้วได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง? หากคุณกำลังสงสัยอยู่ บทความนี้เราจะพาคุณไปหาคำตอบกับ 7 สิทธิประกันสังคมที่นายจ้างและลูกจ้างควรทราบ
ประกันสังคม คืออะไร?
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม แบ่งออกได้เป็น 3 มาตราด้วยกัน ซึ่งได้แก่ มาตรา 33, มาตรา 39 และ มาตรา 40 โดยวันนี้เราจะมาพูดถึง มาตรา 33 ดังนี้
ผู้ประกันตน มาตรา 33
ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
สำหรับอัตราเงินสมทบของประกันสังคม มาตรา 33 ที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จะคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
- ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
7 สิทธิประกันสังคมที่นายจ้างและลูกจ้างควรทราบ

กรณีเจ็บป่วย
ลูกจ้างจะได้รับสิทธิรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาล เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน และหากเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลรัฐ และเอกชนอื่นๆ ก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมหลังจากได้รับการรักษาได้ โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ
(1) กรณีเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ในสถานพยาบาลรัฐ สามารถเบิกได้ตามจริง และสามารถเบิกจ่ายกรณีเข้ารักษาที่สถานพยาบาลเอกชนได้ไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง
(2) กรณีเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในสถานพยาบาลรัฐ สามารถเบิกได้ตามจริง ยกเว้นค่าห้อง และค่าอาหาร ที่เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท และสามารถเบิกจ่ายกรณีเข้ารักษาที่สถานพยาบาลเอกชนได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท, ค่าห้อง และค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท หากมีการรักษาในห้อง ICU สามารถเบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท และเมื่อได้รับการผ่าตัดใหญ่ จะสามารถเบิกได้ไม่เกิน 8,000-16,000 บาท
นอกจากค่าสิทธิรักษาในสถานพยาบาลแล้ว ยังได้รับสิทธิในการทำทันตกรรม ไม่เกิน 900 บาท/ปี ด้วย
กรณีคลอดบุตร
เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 15 เดือน หรือ 1 ปี 3 เดือน จะได้รับค่าคลอดบุตร 13,000 บาท โดยสามารถเลือกใช้สิทธิได้จากฝ่ายชาย หรือหญิง ฝ่ายเดียวเท่านั้น และสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยผู้ประกันตนฝ่ายหญิง จะได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนหลังคลอด ซึ่งสิทธินี้ จะใช้ได้เมื่อคลอดลูกคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น
สิทธิประกันสังคมกรณีชราภาพ
(1) กรณีบำนาญชราภาพ สำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบมานานกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
(2) กรณีบำเหน็จชราภาพ สำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี และมีการจ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไป หรือ 1 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามจำนวนเงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม พร้อมทั้งเงินสมทบจากนายจ้าง และผลตอบแทนจากกองทุนประกันสังคม แต่หากมีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 1 ปี จะได้รับเพียงเงินที่ตัวเองจ่ายเงินสมทบเท่านั้น
กรณีทุพพลภาพ
เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาล เงินชดเชยรายได้ เงินบำเหน็จ เมื่อสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะของร่างกาย หรือจิตใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ตลอดชีวิต
กรณีสงเคราะห์บุตร
เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 12 เดือน หรือ 1 ปี จะได้ค่าสงเคราะห์บุตร เดือนละ 600 บาทต่อคน เป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี โดยมีการยกเว้นการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น ซึ่งสิทธิประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตร สามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกิน 3 คน
กรณีเสียชีวิต
ครอบครัว หรือทายาทของผู้ประกันตนจะได้เงินสงเคราะห์ และค่าทำศพ 40,000 บาท เมื่อแสดงหลักฐานจากฌาปนสถาน สำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาบัตรประชาชนของคนในครอบครัว กับสำนักงานประกันสังคม เมื่อผู้เสียชีวิตเคยจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมนานกว่า 1 เดือน
กรณีว่างงาน
หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นนานกว่า 6 เดือน สามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐ ภายใน 30 วัน ตั้งแต่ออกจากงาน จะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ในระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน/ปี