TL;DR – ยาวไปไม่อ่าน
เมื่อให้พนักงานออกจากงานแบบกะทันหัน ทำให้พนักงานเกิดการตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเท่าไร และทำอย่างไร เพื่อให้การเลิกจ้างนั้นถูกต้องตามกฏหมาย
การบอกเลิกจ้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณหรือพนักงานอยากจะเจอกับเหตุการณ์นี้สักเท่าไหร่ เพราะมันมักจะส่งผลให้แต่ละคนนั้นตั้งตัวไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตามของการเลิกจ้างนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดการเสียความรู้สึก แต่ยังส่งผลกระทบต่อถึงความสัมพันธ์ของคุณและพนักงาน ซึ่งหากคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลยคือการรักษาผลประโยชน์ที่พนักงานควรได้รับ มีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกัน
เลิกจ้างแบบไหน? ถึงจะได้รับค่าชดเชย
ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างจากนายจ้าง เมื่อทำงานครบ 120 วันขึ้นไป และถูกให้ออกจากงานทั้งที่ไม่สมัครใจ ไม่ว่านายจ้างจะแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม
เลิกจ้างแบบไหน? ที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- ติดคุกหรือได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษา
- ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
- ลาออกเองโดยสมัครใจ
- ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน
เลิกจ้างกะทันหัน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่?
Severance Pay หรือค่าชดเชย คือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
การบอกเลิกจ้างพนักงานกะทันหัน ตามกฎหมายแล้วจะได้เงินชดเชย 2 ส่วนจากนายจ้าง คือ ค่าชดเชยเมื่อเกิดการเลิกจ้าง และ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังนี้
ค่าชดเชยเมื่อเกิดการเลิกจ้าง
- ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง หมายความว่า ถ้าได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน