สวัสดิการจำเป็นต้องมีไหม? ถ้าไม่มีผิดกฎหมายหรือเปล่า?

สวัสดิการแรงงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างและครอบครัวของลูกจ้างดีขึ้น และยังช่วยให้เกิดการสร้างกำลังใจในการทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น และคุณรู้หรือไม่ว่า สวัสดิการจำเป็นต้องมีไหม? ถ้าไม่มีผิดกฎหมายหรือเปล่า? วันนี้ taxcount จะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้คุณเอง

สวัสดิการจำเป็นต้องมีไหม?

หากถามว่าสวัสดิการจำเป็นต้องมีไหม? ก็อาจตอบได้ทั้งว่ามีหรือไม่มีก็ได้ โดยที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนั้นได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเห็นว่าการที่ลูกจ้างได้รับสวัสดิการที่ดี นอกจากทำให้ลูกจ้าง เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีแล้ว ยังส่งผลให้ลูกจ้างลดการขาดงาน ลางานและเปลี่ยนงานบ่อย ในที่สุดจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานและผลิตภาพในการทำงาน ภายใต้กรอบภารกิจดังกล่าว สวัสดิการแรงงานได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น2 ประเภท คือ

  1. สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย
  2. สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมาย

สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย

การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องจัดให้กับผู้ปฏิบัติงานซึ่งสวัสดิการตามกฎหมาย ถูกกำหนดโดย กฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ซึ่งในกฎกระทรวงฉบับนี้ จะพูดถึงสวัสดิการ ในเรื่องน้ำดื่ม ห้องน้ำ ห้องส้วม การปฐมพยาบาล และการรักษาพยาบาล ที่นายจ้างต้องจัดให้กับลูกจ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ต้องจัดให้มี
    • น้ำสะอาดสำหรับดื่ม 1 ที่ ต่อพนักงาน 40 คน เศษของ 40 คน ถ้าเกิน 20 คนให้ถือว่าเป็น 40 คน
    • ห้องน้ำและห้องส้วม โดยจะต้องแยกชายและหญิง และถ้ามีลูกจ้างที่เป็นคนพิการ ต้องจัดให้มีห้องน้ำสำหรับคนพิการโดยเฉพาะด้วย
  2. ต้องจัดให้มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและรักษาพยาบาล
    • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
      • ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ อย่างน้อย 29 รายการ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ในกฎกระทรวงดังกล่าว
    • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป
      • ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล อย่างน้อย 29 รายการ
      • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อย 1 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
      • พยาบาลตั้งแต่ระดับเทคนิคขึ้นไป ประจำอย่างน้อย 1 คน ตลอดเวลาทำงาน
      • แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน
    • สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป
      • ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล อย่างน้อย 29 รายการ
      • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อย 2 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
      • พยาบาลตั้งแต่ระดับเทคนิคขึ้นไป ประจำอย่างน้อย 2 คน ตลอดเวลาทำงาน
      • แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมงในเวลาทำงาน
      • ยานพาหนะพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลได้โดยเร็ว
  3. สำหรับนายจ้างที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 ขึ้นไป นายจ้างอาจทำข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถนำลูกจ้างส่งได้โดยเร็ว แทนการมีแพทย์ก็ได้ ซึ่งคำขออนุญาตใช้สถานพยาบาลแทนการจัดให้มีแพทย์ เราเรียกว่า แบบ กสว.1 และใบอนุญาตให้ใช้สถานพยาบาลแทนการจัดให้มีแพทย์ เราเรียกว่า แบบ กสว.2

สวัสดิการพนักงานนอกเหนือกฎหมาย

สวัสดิการพนักงานเป็นคำที่ครอบคลุมผลประโยชน์ และบริการมากมายที่นายจ้างอาจเสนอให้กับพนักงานในองค์กร อาจรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวของพนักงานได้เช่นกันเพื่อเป็นแรงจุงใจในทุกมิติให้กับบุคลากรของบริษัทได้มีขวัญและกำลังใจ เพิ่มประสิทธิผล และ มีความสุขในการทำงานมากขึ้น

ตัวอย่างการจัดสวัสดิการนอกเหนือ เช่น

  • โบนัส
  • เบี้ยขยั้น
  • ค่าครองชีพ
  • เงินค่าเดินทาง
  • การประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต
  • ประกันทันตกรรม
  • วันหยุดอื่นๆที่ได้รับค่าจ้าง
  • ห้องออกกำลังกาย
  • ค่าอาหาร

ที่มา : https://www.labour.go.th/index.php/hm7/73-2562-01-04-06-01-50