การทำธุรกิจกับการเข้า-ออกเงินนั้นเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะรับหรือจ่ายเงิน การมีแค่สเตทเมนท์จากธนาคารอาจไม่เพียงพอ คุณต้องมีหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้การบันทึกบัญชีและยื่นภาษีถูกต้อง
นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะยังจำได้ไหมว่ารายการเข้า-ออกเงินพวกนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร คุณได้รับเงินจากที่ไหนบ้าง ด้วยเหตุผลอะไร หรือคุณจ่ายเงินออกไปให้ใครบ้าง เพราะเรื่องอะไรแน่นอนว่าตอนแรกๆ อาจจะดูยุ่งยากซับซ้อนไปหน่อย แต่ลองมองในอีกมุมนึง มันจะเหมือนสมุดบันทึกประจำวันที่จะช่วยเตือนความจำคุณว่าเงินพวกนั้นเข้า-ออกไปที่ไหนบ้าง ด้วยสาเหตุอะไร ในบทความนี้นะครับ เราจะมาพูดถึงเอกสารต่างๆ ที่คุณควรจะเก็บรักษาไว้ทุกครั้งที่มีการรับหรือจ่ายเงิน
เอกสารทางธุรกิจอะไรบ้างที่จะต้องเก็บ?
สำหรับการเก็บเอกสารนั้น เราจะแบ่งออกเป็น 2 ชุดหลักๆ ได้แก่ ชุดจ่าย ซึ่งประกอบด้วยเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกครั้งที่คุณมีการจ่ายเงินออกไป เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือหลักฐานการจ่ายเงินอื่นๆ และชุดรับ ซึ่งประกอบด้วยเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกครั้งที่คุณมีการรับเงินเข้ามา เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งของ หรือหลักฐานการรับเงินอื่นๆ
จ่ายเงิน (ชุดจ่าย)
เอกสารที่ต้องเก็บไว้กรณีที่ซื้อบริการ (มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง)
- ออกใบหัก ณ ที่จ่าย (เราหักเขา)
- ต้นฉบับ ส่งให้กับผู้ให้บริการ
- สำเนา แนบกับใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี
- ต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี จากผู้ให้บริการ
- ถ้าไม่มีเป็นใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน พร้อมบัตรประชาชนของผู้ให้บริการ
เอกสารที่ต้องเก็บไว้กรณีที่ซื้อสินค้า
- ต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี จากผู้ขายสินค้า
- ถ้าไม่มีเป็นใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน พร้อมบัตรประชาชนของผู้ขายสินค้า
- ต้นฉบับใบส่งของ (ถ้ามี)
Tips: กรณีที่จะมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย (เราหักเขา) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณซื้อบริการ แต่ถ้าคุณซื้อสินค้า ไม่ต้องทำหัก ณ ที่จ่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 จุดสำคัญที่ต้องมีในใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
รับเงิน (ชุดรับ)
เอกสารที่ต้องเก็บไว้กรณีขายบริการ (มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง)
- รับใบหัก ณ ที่จ่ายต้นฉบับจากผู้ซื้อบริการ (เราถูกเขาหัก)
- ออกใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี
- ต้นฉบับ ส่งให้กับลูกค้า
- สำเนา แนบกับใบหัก ณ ที่จ่าย
- Pay-slip ที่ลูกค้าโอนเงินให้เรา (ถ้ามี)
เอกสารที่ต้องเก็บไว้กรณีขายสินค้า
- ออกใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี
- ต้นฉบับ ส่งให้กับลูกค้า
- Pay-slip ที่ลูกค้าโอนเงินให้เรา (ถ้ามี)
หลังจากแทคซ์เคาต์ได้บันทึกบัญชีรายเดือนและส่งเอกสารต่างๆ กลับคืนให้คุณแล้ว คุณจะต้องเก็บรักษาเอกสารเหล่านี้ไว้เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี ตามที่พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 14 ได้ระบุไว้
อ้างอิง
- ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 เตรส
- ท.ป. 4/2528
- พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 14
- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 240