หลายๆ คนผันตัวเองจากพนักงานประจำมาเป็นเจ้าของร้านขายของออนไลน์ให้ลูกค้า CF กันรัวๆ ยอดขายของร้านก็โตขึ้นทุกเดือนๆ จนเงินเข้ากระเป๋าเจ้าของราวกับว่าทำงานประจำมาทั้งปียังมีรายได้ไม่เท่ากับขายของแค่เดือนเดียว ใช้จ่ายคล่องอยากได้อะไรก็ซื้อ อยากกินอะไรก็เอาเงินที่ได้จากการขายของได้มาจ่ายเอา จนลืมนึกถึงว่า “หากมียอดขายเยอะ” สิ่งที่ตามมาก็คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” นั้นเอง
แน่นอนว่าหลายๆ เจ้าของธุรกิจขายของออนไลน์บางคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า เมื่อมียอดขายเข้ามาเรื่อยๆ จนเกิน 1.8 ล้านบาท สิ่งที่ตามมาก็คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่เจ้าของร้านค้าจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร
ให้เราอ่านให้ฟัง
การเดินทางไม่ได้จบลงที่จด VAT แต่มันเพิ่งเริ่มขึ้น
แต่เมื่อขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น มันมีหลายๆ อย่างที่กฎหมายเค้าบังคับให้คนที่ไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มต้องทำอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในเรื่องของการจัดเตรียมเอกสาร ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ทุกครั้งที่มีการขาย หรือต้องทำรายงานภาษีในแต่ละเดือน ไหนจะต้องสรุปรายงานสินค้าในแต่ละเดือนอีก ยุ่งยากไปหมด
แถมจะจ่ายภาษีก็จ่ายไม่เป็น จะทำรายงานก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง แล้วภาษีมูลค่าเพิ่ม มันคิดจากยอดไหนอีก งง ไปหมดไม่อยากจะทำเลยไม่ชอบ อีกอย่าง ยิ่งทำก็มีรายจ่ายมากขึ้นอีก ไหนจะค่ากระดาษที่ต้องปริ้น ไหนจะต้องมาเสียเวลานั่งเก็บตัวเลขอีก เวลาขายของก็น้อยลง มัวแต่ยุ่งวุ่นวาย กังวลเกี่ยวกับเรื่องของภาษี
อย่าคิดว่าเขา (กรมสรรพากร) จะไม่สนใจคุณ
เมื่อยุ่งยากเข้ามา ความขี้เกียจก็เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ได้อยากจะทำ ไม่ได้อยากจะจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีความคิดนึงเข้ามาในหัวว่า “ก็ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสิ” ง่ายจะตายพอใกล้ถึง 1.8 ล้านบาทก็แค่เปลี่ยนบัญชีใหม่ก็จบแล้ว
มันไม่ใช่แค่นั้น หลายๆ ผู้ประกอบการคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า ช่วงนี้กรมสรรพากรเริ่มหันมาสนใจเก็บภาษีกับธุรกิจขายของออนไลน์มากขึ้น เริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น
โดยกรมสรรพากรตรวจสอบยอดขายที่คุณขายได้ แล้วตัวเลขที่กรมสรรพากรได้ นั้นมาจาก ทุกๆ เดือน บริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์นั้นจะส่งข้อมูลที่เป็นรายรับค่าคอมมิชชั่นที่เก็บจากร้านเรานั้นแหละ เอามาเป็นข้อมูลว่าร้านเรามียอดขายเท่าไหร่ในแต่ละเดือน แล้วมันเกิน 1.8 ล้านหรือยัง ซึ่งการเปลี่ยนเลขที่บัญชีก็ไม่น่าจะช่วยอะไร เพราะเค้ารู้หมดว่าร้านค้ามียอดขายเท่าไหร่ และใครเป็นเจ้าของร้าน
“ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เงินของเรา หรือของใคร?
อีกเรื่องนึงที่ผู้ประกอบการหลายๆ คนเข้าใจผิด “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” นั้นไม่ใช่ต้นทุนของเรา แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นเพียงแค่เงินที่กรมสรรพากรฝากเราเก็บกับลูกค้าแทนแค่นั้นเอง นั้นก็หมายความว่าภาษีที่คุณเก็บมาจากลูกค้าก็ คือ “เงิน” สรรพากรนั้นแหละ
จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมค่าปรับของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงสูงจนสามารถปรับเจ้าของร้านขายของออนไลน์ถึงกับเครียด จนนอนไม่หลับเพราะไม่รู้ว่าวันไหน กรมสรรพากรจะเข้ามาตรวจ หรือเครียดเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าปรับ หากกรมสรรพากรตรวจเจอว่าเราไม่ยอมไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง และยอดขายก็เกินมาเยอะมากแล้ว
จึงเป็นที่มาของคำว่า “กำไรของเรา ก็คือเงินเก็บของกรมสรรพากร” นั้นเอง
ทางออก ถ้าคุณไม่อยากเจอปัญหาหลังจด VAT
ดังนั้นในเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญเลยก็คือ การทำรายรับ รายจ่าย ฟังเหมือนอาจจะดูยาก แต่ที่จริงแล้วไม่ยากเลย แค่วางแผนดีๆ หาเครื่องมือในการทำรายรับ รายจ่าย และแยกเงินออกจากเงินส่วนตัว หมั่นคอยดูว่ายอดเงินเราใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องไปจดหรือยัง ถ้าใกล้ถึงแล้วก็ไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อจดแล้วความวุ่นวายจะเกิดขึ้นไหม ? อันนี้ในมุมมองของผู้เขียนมองว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือหลากหลายมากมายที่จะเป็นตัวช่วยให้งานเกี่ยวกับบัญชี และภาษีของคุณเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แค่ไม่กี่คลิกก็สามารถดึงข้อมูลที่เยอะแยะมากมายไปหมด นำมาจัดเรียงเป็นรายงาน พร้อมเสิร์ฟให้กับเรา
และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จริงแล้วก็ไม่ได้น่ากลัวเสมอไปนะ จริงๆแล้วภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นตัวที่จะช่วยให้ร้านค้าเรามีโอกาสมากกว่าร้านค้าอื่นด้วยซ้ำ เพราะว่าหากเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็สร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านของเรามากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก แล้วอาจจะได้มีโอกาสทำธุรกิจซื้อขายกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการจะเอาภาษีซื้อมาหักกับภาษีขายนั้นเอง